ประวัติสโมสร
สมุทรปราการ ซิตี้ มีฉายาว่า “เขี้ยวสมุทร” เดิมทีคือสโมสรพัทยา ยูไนเต็ด แต่ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นภายในทีมส่งผลให้จากเดิมที่เล่นใน จ.ชลบุรี ย้ายมาลงเล่นในจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมเปลี่ยนชื่อ ตราสโมสร โลโก้ และทุกอย่างใหม่ทั้งหมด ทางสโมสรดั้งเดิมของสมุทรปราการ ซิตี้นั้นก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 โดย นายพันธศักดิ์ เกตุวัตถา อดีตนักฟุตบอลและได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสุขาภิบาลตำบลบางพระในเวลานั้น ในช่วงแรกเริ่มได้มีการใช้ชื่อว่า “สโมสรสุขาภิบาลตำบลบางพระ” และทำการส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน ประเภท ง จากนั้นตัวสโมสรจึงค่อยๆ เลื่อนชั้นขึ้นสู่ฟุตบอลถ้วย ประเภท ค, ประเภท ข จนกระทั่งปี พ.ศ. 2542 มีการเปลี่ยนชื่อทีมเป็น “สโมสรฟุตบอลเทศบาลตำบลบางพระ” เหตุเพราะมีการมีการเปลี่ยนระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 สโมสรได้คว้าแชมป์ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ประเภท ข ได้สำเร็จ จึงมีโอกาสได้เลื่อนชั้นขึ้นมาสู้ศึกดิวิชั่น 1 ของบอลไทยในตอนนั้น (ไทยลีก 2 ปัจจุบัน) โดยมีสปอนเซอร์หลักของทีมเป็น “เครื่องดื่มโค้ก” ทางสโมสรจึงตัดสินใจเพิ่มชื่อสปอน์เซอร์เข้าไปในชื่อทีมกลายเป็น “สโมสรฟุตบอลโค้ก-เทศบาลตำบลบางพระ” พวกเขาต่อสู้ในดิวิชั่น 1 เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2550 ก็ถือเป็นอีกความสำเร็จเมื่อสามารถคว้าอันดับ 1 (รองแชมป์) ในสาย A และจบด้วยอันดับ 3 ของการลงเล่นรอบสุดท้าย ในฤดูกาล 2551 พวกเขาจึงมีโอกาสได้ก้าวสู่ลีกสูงสุดอย่างไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก (ไทยลีก 1 ปัจจุบัน) เป็นครั้งแรก แถมจบด้วยอันดับ 11 ในการลงเล่นปีแรกบนลีกสูงสุด

Source: Thailand Susu
จากโค้ก-บางพระ สู่ พัทยา ยูไนเต็ด

Source: Prachachat.net
ในปี พ.ศ. 2552 สโมสรได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อพวกเขาตัดสินใจจดทะเบียนสโมสรในรูปแบบนิติบุคคลเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย จึงมีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้ง คราวนี้ใช้ชื่อ “สโมสรพัทยา ยูไนเต็ด” นอกจากการเปลี่ยนชื่อทีมแล้วทางสโมสรยังเปลี่ยนสนามเหย้าของตนเองจากเดิมเล่นอยู่ที่สนามโค้ก-จำลอง เสมอวงษ์ ไปเล่นกันที่สนามกีฬาเทศกาลตำบลหนองปรือ อย่างไรก็ตาม ผลงานของทีมกลับไม่ค่อยสู้ดีเท่าไหร่นัก แต่พวกเขายังสามารถเล่นบนลีกสูงสุดได้ถึง 5 ฤดูกาล แถมเมื่อฤดูกาล 2554 เคยทำอันดับได้สูงสุดด้วยการจบถึงอันดับ 4 ของตาราง
การกลับมาสู่ลีกสูงสุดและกลายเป็นสมุทรปราการ ซิตี้

Source: Thairath
แม้ในปี พ.ศ. 2556 ทีมต้องตกชั้นและกลับมาเล่นในศึกลีก วัน (ไทยลีก 2 ปัจจุบัน) โดยได้ติดอยู่ในลีกรองอยู่ 2 ปี ก็สามารถพลิกฟอร์มคว้าอันดับ 2 และกลับขึ้นไปสู่ลีกสูงสุดอีกครั้งเมื่อปี 2559 ภายในเวลาไม่นานได้เกิดปัญหาตามมาเมื่อเจ้าของสิทธิ์ทีมอย่าง “ชลบุรี เอฟซี” ตัดสินใจไม่ทำทีมต่อและตกลงขายสโมสรให้กับกลุ่มทุนเกียรติธานี หรือ บริษัท เค สปอร์ต จำกัด เป็นจำนวนเงิน 60 ล้านบาท ส่งผลให้มีผู้ลงทุนหน้าใหม่เข้ามาบริหารจัดการทีม ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 ทางกลุ่มผู้บริหารสโมสรใหม่ได้ตัดสินใจย้ายที่ตั้งสโมสรจากเมืองพัทยา มาอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ และมีการเปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น “สมุทรปราการ ซิตี้” พร้อมเปลี่ยนโลโก้จากเดิมภายใต้ฉายา “โลมาสีน้ำเงิน” มาเป็นภาพหอคอยของจังหวัดสมุทรปราการแทน

Source: Thairath
หัวหน้าผู้ฝึกสอน สมุทรปราการ ซิตี้
สำหรับตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนของสโมสรสมุทรปราการ ซิตี้ คนปัจจุบัน คือ (รออัปเดต)
อดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนที่มีชื่อเสียง (รวมยุคพัทยา ยูไนเต็ด)
- จเด็จ มีลาภ (ไทย)
- ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล (ไทย)
- เฉลิมวุฒิ สง่าพล (ไทย)
- ชัชชัย พหลแพทย์ (ไทย)
- สุรพงษ์ คงเทพ (ไทย)
- มิลอส โจซิค (เซอร์เบีย)
- มาซาทาดะ อิชิอิ (ญี่ปุ่น)
สนามฟุตบอลและความจุ
เดิมทีเมื่อครั้งก่อตั้งสโมสรในชื่อสโมสรสุขาภิบาลตำบลบางพระ และ สโมสรฟุตบอลเทศบาลตำบลบางพระ (โค้ก-บางพระ) พวกเขาใช้สนามโค้ก จำลอง เสมอวงษ์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเล่นที่สนามกีฬาเทศบาลตำบลหนองปรือในปี 2552 ภายใต้สโมสรพัทยา ยูไนเต็ด และได้หันมาใช้สนามกีฬา กกท. เคหะบางพลี เป็นสนามเหย้าของสมุทรปราการ ซิตี้ในปัจจุบัน จุแฟนบอลได้ทั้งสิ้น 6,800 ที่นั่ง ตั้งอยู่บนถนนเคหะบางพลี อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ
อดีตนักเตะชื่อดังของทีม (รวมยุคพัทยา ยูไนเต็ด)
- ธนา ชนะบุตร (ไทย)
- ลูโควิด ทาคาม (แคเมอรูน)
- ลูเคียน (บราซิล)
- จูเนียร์ เนเกโร่ (บราซิล)
ทำเนียบแชมป์สโมสร
สโมสรสมุทรปราการ ซิตี้ ยังไม่เคยคว้าแชมป์รายการใหญ่ในการลงเล่นใดๆ
สถิติที่น่าสนใจ
หลังจากเปลี่ยนชื่อมาเป็น สมุทรปราการ ซิตี้ พวกเขาสามารถคว้าอันดับ 6 ของลีก ได้ 2 ปีติดต่อกัน ส่วนรายการฟุตบอลถ้วยทำได้ดีสุดคือการเล่นเอฟเอ คัพ รอบ 32 ทีมสุดท้ายในทั้ง 2 ฤดูกาล